สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ Learning center for All ได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดในการกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆ จึงได้จัดกิจกรรม “KKUL Reading for the blind by จิตอาสา” เพื่อผลิตหนังสือเสียง (Audiobook) สำหรับ สนับสนุนการเรียนรู้และขยายโอกาสในการเข้าถึงหนังสือที่น่าสนใจสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น ทั้งนี้สำนักหอสมุดได้ให้ความสำคัญของการสนับสนุนความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งความรู้ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาบริการและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ขึ้นในปี พศ.2565 และได้จัดการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรของสำนักหอสมุด ให้มีความรู้และทักษะ ในการผลิตหนังสือเสียง เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการผลิตหนังสือเสียง (audiobook coach) ให้กับจิตอาสา หรือผู้สนใจเข้ามีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือเสียงสำหรับส่งมอบให้ผู้พิการทางสายตาต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น. สำนักหอสมุดได้จัดกิจกรรม “KKUL Reading for the blind by จิตอาสา” โดยได้รับความสนใจจากจิตอาสา 4 คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยในช่วงแรกได้จัดการอบรม “การจัดทำหนังสือเสียง (Audiobook)” วิทยากรโดยนางสาวณัฐอร เลี้ยวประเสริฐ และผู้ช่วยวิทยากรจากสำนักหอสมุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้จิตอาสา มีทักษะในการร่วมสร้างสรรค์หนังสือเสียงอย่างมีคุณภาพ จากนั้น จิตอาสาทุกคน ได้ร่วมบันทึกเสียง เพื่อผลิตหนังสือเสียงตามมาตรฐาน
กิจกรรมการผลิตหนังสือเสียงในวันนี้สำนักหอสมุดขอขอบคุณจิตอาสาที่ร่วมส่งต่อโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้แก่ผู้พิการทางการมองเห็นผ่านการร่วมผลิตหนังสือเสียงที่มีมาตรฐาน สามารถใช้ในการศึกษาค้นคว้า ทดแทนการอ่านหนังสือได้ โดยจิตอาสาทั้ง 4 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้แก่ นางสาวณัฐธยาน์ สีนะวัฒน์ เด็กชายณัฐวัฒน์ สีนะวัฒน์ นางสาวจิณฑ์จุฑา เตียเตชะนันท์ และนายณัฐดนัย ร้อยพา
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning Center for ALL) พร้อมที่จะสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมสังคมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีด้านการศึกษา