สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำนักหอสมุดจัดอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการผลิตหนังสือเสียง เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งมอบโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายให้แก่ผู้ที่มีความพิการทางการมองเห็น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมสังคมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีด้านการศึกษา

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการผลิตหนังสือเสียง เพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรของสำนักหอสมุด มีทักษะที่จะสนับสนุนการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยการอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักหอสมุด วิทยากรโดย อาจารย์สนอง จวนสาง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

การอบรมในวันนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ประธานพิธีกล่าวถึงกิจกรรมในวันนี้ว่า สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning Center for ALL) มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งนอกจากผู้ใช้บริการหลักที่เป็นนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และนักวิจัยแล้ว สำนักหอสมุดยังให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการที่เป็นประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายด้วย จึงเห็นความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรสำนักหอสมุดให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตหนังสือเสียง (Audiobook) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้นำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ดังกล่าว ไปใช้ในการทำสนับสนุนกระบวนการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางการมองเห็นในชุมชนต่อไป 

ดร.ประสิทธิ์ ประทุมรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการและโครงสร้างพื้นฐาน สำนักหอสมุด ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาบริการและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ สำนักหอสมุด กล่าวถึง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรของสำนักหอสมุดให้มีความรู้ความสามารถในด้านการผลิตหนังสือเสียง เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงผลิตสื่อสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตา เรียนรู้การผลิตหนังสือเสียงด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อให้หนังสือเสียงที่ผลิตได้ตามมาตรฐาน ผู้พิการทางสายตาและบุคคลอื่นๆ สามารถใช้หนังสือเสียงเพื่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการและเพื่อความเพลิดเพลินจากการฟังทดแทนการอ่านได้ ซึ่งจะทำให้ผู้พิการทางสายตาได้เพิ่มพูนความรู้และความเพลินเพลินได้เช่นเดียวกับคนสายตาปกติทั่วไป ทั้งนี้สำนักหอสมุด ยังมีโครงการที่จะจัดทำหนังสือเสียง ที่ครอบคลุม ความรู้ที่หลากหลายสาขา เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความพิการทางสายตา และจัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยหนังสือเสียง ร่วมกับโรงเรียนการศึกษา คนตาบอดขอนแก่น เพื่อการพัฒนาชุมชนผู้พิการทางสายตาอย่างยั่งยืน