
ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.กานดา สายแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรการอบรมหัวข้อ “Generative AI for Research” เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องอบรม E201 ชั้น 2 อาคารคณะเศรษฐศาสตร์ โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรสายสนับสนุนจากหลากหลายคณะเข้าร่วมอบรมอย่างคับคั่ง
การอบรมครั้งนี้เน้นการแนะนำเครื่องมือ Generative AI ที่หลากหลาย ได้แก่ KKU IntelSphere, ChatGPT, Claude, SciSpace, Gemini, Perplexity, Semantic Scholar, Research Rabbit, NotebookLM และ Google Scholar PDF Reader รวมทั้งเทคนิคการเขียนคำสั่ง (Prompt Engineering) ที่มีประสิทธิภาพ และการใช้งานอย่างมีจริยธรรม ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในทุกขั้นตอนของการวิจัย ตั้งแต่การค้นหาหัวข้อวิจัย การทบทวนวรรณกรรม ไปจนถึงการเขียนบทความและการค้นหาวารสาร
ในระหว่างการอบรม ผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ SciSpace ในการวิเคราะห์และสรุปบทความวิจัย และการสร้างแบบสอบถามโดยใช้ ChatGPT และ Form Builder Plus ผู้เข้าร่วมได้ทดลองค้นหาวารสารที่เหมาะสมสำหรับการตีพิมพ์บทความของตนผ่าน Claude และ Perplexity ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้การทำงานวิจัยมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นอย่างมาก
จากผลการประเมินการอบรม พบว่าผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ให้ความพึงพอใจในระดับสูง และมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นว่า “สะดวกและรวดเร็วมาก” สำหรับการใช้เครื่องมือต่างๆ และ “ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานได้อย่างมาก” นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า “ควรเพิ่มเวลาการอบรมให้มากขึ้น” และ “อยากให้จัดการอบรมแบบเจาะจงตามสาขาวิชา” เพื่อให้สามารถเรียนรู้และทดลองใช้เครื่องมือได้อย่างถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น การอบรมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับนักวิจัยในยุคปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ขอขอบคุณภาพจากศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน





