สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น

      หนังสือมนุษย์สื่อใหม่สำหรับการเรียนรู้

      หนังสือมนุษย์ หรือ หนังสือมีชีวิต (Human Book)  เป็นแหล่งความรู้จากบุคคลที่มีชีวิต โดยผู้อ่านหนังสือมีชีวิตจะได้ศึกษาและเรียนรู้จากบุคคลที่เป็นหนังสือมีชีวิตโดยตรง เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ผ่านความคิดเห็นของบุคคลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเรื่องนั้นอาจเกิดจากการอ่าน การทำงาน การเรียนรู้ด้วยตนเองในสิ่งที่สนใจจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ดังนั้นการจัดกิจกรรมหนังสือมีชีวิตจึงเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ โดยการประยุกต์แหล่งความรู้จากตัวบุคคลเพื่อมาถ่ายทอดความรู้จากภายในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) สู่ภายนอกหรือผู้ใช้บริการนั่นเอง

       สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนา Human book Collection มาตั้งแต่ปี 2563  จัดหาสื่อหนังสือมนุษย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นสื่อความรู้ทางเลือกอีก 1 รูปแบบ ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้  ในช่วงแรกได้ร่วมร่วมกับชมรมบุคลากรอาวุโส มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ในการเป็นอาสาสมัครมาเป็นหนังสือ  และได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆมากขึ้น  ทำให้สำนักหอสมุดมีสื่อการเรียนรู้บริการในหมวด Academic Skill และ Life Skill มากขึ้น

      การอ่าน  Human Book และวิธีขอใช้บริการ

       ในการอ่านหนังสือมนุษย์ แท้ที่จริงแล้วคือการฟังเรื่องเล่าและสนทนา ถาม-ตอบ ระหว่างผู้ยืม และหนังสือมนุษย์ ในช่วงเวลาที่กำหนด  ปกติจะอยู่ประมาณ 45 นาที -1.30 ชั่วโมง โดยผู้ยืมสามารถเลือกสถานที่และวิธีการอ่านได้ตามความต้องการ มีห้องเฉพาะสำหรับให้บริการเฉพาะ มีความเป็นส่วนตัวและเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการเรียนรู้  สำนักหอสมุดเก็บและดูแลข้อมูลผู้ใช้ตามพ.ร.บ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่น และในการอ่านแบบออนไลน์ผู้ใช้สามารถเข้าใช้โดยไม่ระบุตัวตนได้ สำหรับการขอใช้บริการ สามารถส่งคำร้องออนไลน์จากหน้าเว็บไซต์ของสำนักหอสมุด  https://library.kku.ac.th/human-bookkkul/

      รูปแบบการอ่าน  Human Book

  1. ยืมอ่านโดยตรง แบบ  face to face
  2. ยืมอ่านผ่านระบบออนไลน์ ผ่าน Application Google Meet  หรือ เครื่องมือสื่อสารออนไลน์

       กลุ่มผู้อ่านคือใคร

     เนื้อหาแต่ละเล่มเหมาะกับการอ่านตามอัธยาศัย ได้แก่ นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงาน  ซึ่งสามารถอ่านหนังสือแบบเดี่ยว หรือแบบกลุ่ม

       วิธีการอ่าน 

  1. เลือกหนังสือมนุษย์ที่ต้องการอ่านจากหน้าเว็บ  หรือจาก OPAC
  2. กรอกแบบฟอร์มในการใช้
  3. ผู้ประสานงานรับแบบฟอร์ม และส่งต่อผู้เป็นหนังสือมนุษย์
  4. หนังสือมนุษย์และผู้อ่านคอนเฟิร์มเวลา และสถานที่ (รวมทั้งรูปแบบการอ่านกรณีผ่านออนไลน์) ที่ต้องการอ่านโดยมีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเป็นผู้ประสาน

       วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อจัดหาสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายให้ผู้เรียนเลือกเรียนรู้ตามความสนใจ
  2. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
  3. เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

        ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

  1. ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสารสนเทศที่หลากหลายและขอใช้บริการ Human Book ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
  2. สำนักหอสมุดมีเว็บไซต์หนังสือมีชีวิตสำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  3. สำนักหอสมุดมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน