จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับชาติ PULINET ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้นวันที่ 15-17 มกราคม 2568 โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ไปพบผลงานโปสเตอร์และฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเจ้าของโปสเตอร์เรื่อง“การจัดกิจกรรมแมวบำบัดในห้องสมุดตามแนวคิด Library of Life” เจ้าของผลงานคุณสิรินยา สุวรรณปักษ์ และคุณปทุมทิพย์ ลิ้มพงศานุรักษ์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความที่ผู้เขียนชอบแมวและเลี้ยงแมวอยู่แล้ว จึงประทับใจและได้หยิบยกนำมาแบ่งปันความรู้เล่าสู่กันฟัง
นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่และเป็นห้องสมุดแห่งแรกที่หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ชัยสิทธิ์ อังคะปัญญาเดช & ปรีดี ปลื้มสำราญกิจ, 2566) ได้ฉีกกฏเดิมที่ห้องสมุดในประเทศไทยห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องสมุด เนื่องจากสัตว์เลี้ยงอาจเสียงดังควบคุมไม่ได้ อาจทำให้เกิดความสกปรกในห้องสมุด อาจนำเชื้อโรคมาสู่คนหรือผู้เข้าใช้ห้องสมุด คาดเดาอารมณ์แมวไม่ได้หากนำเข้าห้องสมุดแล้วอาจจะรบกวนและทำอันตรายต่อคนในห้องสมุด จึงยังไม่มีนโยบายอนุญาตนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องสมุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตระหนักดี จึงได้ใช้หลักการของความเข้าใจทางจิตวิทยาและพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง แมวที่นำมาร่วมกิจกรรมต้องได้รับประทานอาหารเต็มอิ่ม พักผ่อนอย่างเพียงพอ อาบน้ำทำความสะอาดอย่างถูกสุขลักษณะ จัดตารางเวลาที่เหมาะสมกับการนำแมวออกมาบริการให้เล่นด้วยกับนักศึกษาผู้ใช้บริการ และยังคำนึงถึงการแพ้ขนสัตว์ของนักศึกษา โดยจัดโซนพื้นที่แยกต่างหากและมีการประชาสัมพันธ์สื่อสารแจ้งข้อมูลให้ทราบอย่างทั่วถึง สิ่งที่ประทับใจลำดับต่อมาคือ การนำแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักน่าทะนุถนอมคนทั่วโลกชื่นชอบแมวกันมากมาจัดกิจกรรมในห้องสมุดให้นักศึกษาและบุคลากรได้มีส่วนร่วมเป็นกิจกรรมที่ดีมากในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชากรไทยมีแนวโน้มเป็นซึมเศร้ามากขึ้น(ณัฐพงษ์ ตั้งจิตบุญสง่า & ชวนันท์ ชาญศิลป์, 2563) การเล่นกับแมวจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย ลดเครียด มีสมาธิดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ห้องสมุดกับนักศึกษาผู้เข้าใช้ห้องสมุด เสริมสร้างภาพลักษณ์ของห้องสมุด ดึงดูดให้นักศึกษาเข้าใช้บริการห้องสมุดมากขึ้นเพื่อมาเยี่ยมชมเล่นและถ่ายรูปกับแมว สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยี่ยมชมห้องสมุดอีกรูปแบบหนึ่ง
ประโยชน์/การนำไปต่อยอด : สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับห้องสมุดทั่วไปและห้องสมุดเฉพาะทาง เช่นห้องสมุดคณะสัตวแพทยศาสตร์ แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะด้าน ดึงดูดให้นักศึกษาเข้าใช้บริการห้องสมุด
ข้อเสนอแนะ/แนวทางการดำเนินกิจกรรม :
1. จัดพื้นที่ที่เหมาะสม
1.1 ควรจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับโซนแมวเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ใช้บริการที่อาจแพ้ขนแมวหรือไม่ชอบสัตว์
1.2 จัดพื้นที่ให้แมวสามารถพักผ่อนและเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เช่น มุมอ่านหนังสือที่มีชั้นวางหนังสือ โต๊ะอ่านหนังสือ กล่องเก็บหนังสือกล่องแมวติดผนัง และมีที่ปีนป่ายเป็นเหมือนคอนโดแมว บันไดแมว ที่ลับเล็บแมว
2. การดูแลแมวและสุขอนามัย
2.1 คัดเลือกแมวที่มีนิสัยเป็นมิตร สุขภาพแข็งแรง และผ่านการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ฉีดวัคซีน
2.2 จัดห้องดูแลแมวและจุดทำความสะอาดเพื่อให้สภาพแวดล้อมสะอาดและไม่รบกวนสุขภาพของผู้ใช้บริการ
2.3 มีมาตรการควบคุมกลิ่นและขนแมว เช่น ระบบระบายอากาศและการทำความสะอาดเป็นประจำ
3. กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
3.1 จัดกิจกรรม“อ่านหนังสือกับแมว”หรือ“Storytime with Cats”เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการอ่าน
3.2 ให้ผู้ใช้บริการสามารถนั่งอ่านหนังสือพร้อมมีแมวเป็นเพื่อนช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการอ่าน
4. กิจกรรมเวิร์กช็อป จัดทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการดูแลแมว อาบน้ำแมว การฝึกแมว หรือการทำของเล่นแมว ทำขนมสำหรับแมว วาดภาพแมว


เอกสารอ้างอิง
ชัยสิทธิ์ อังคะปัญญาเดช & ปรีดี ปลื้มสำราญกิจ. (2566). แนวคิดการนำสัตว์เลี้ยงมาใช้เพื่อส่งเสริมบริการของห้องสมุด กรณีศึกษาหอสมุดปรีดี พนมยงค์. วารสารวิชาการหอสมุดแห่งชาติ, 11(2), 51–62.
ณัฐพงษ์ ตั้งจิตบุญสง่า & ชวนันท์ ชาญศิลป์. (2563). ทัศนคติต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในประชากรไทย. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 65(1), 75-78
สิรินยา สุวรรณปักษ์ และคุณปทุมทิพย์ ลิ้มพงศานุรักษ์. (15-17 มกราคม 2568). การจัดกิจกรรมแมวบำบัดในห้องสมุดตามแนวคิด Library of Life (การนำเสนอโปสเตอร์) ในการประชุมวิชาการระดับชาติ PULINET ครั้งที่ 15, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.